อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
  • ปรับขนาด
    ตัวอักษร
สถานที่ท่องเที่ยว
อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน
คะแนนโหวต 3.00/5 คะแนน จากผู้โหวต 2 ท่าน

   อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่วีรชนบ้านบางระจันผู้ประกอบวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โดยพม่าได้ยกทัพมาตีไทยและมีกองทัพส่วนหนึ่งเข้าตีหมู่บ้านบางระจัน  แม้ว่าชาวบ้านบางระจันจะขาดแคลนอาวุธและมีกำลังน้อยกว่า แต่ก็ได้แสดงความกล้าหาญและความสามัคคียอมพลีชีวิตเพื่อประเทศชาติ จนได้รับการจารึกเพื่อเป็นเกียรติสืบมา

   อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน เป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันทั้ง ๑๑ คน ประกอบด้วย นายจันหนวดเขี้ยว นายโชติ นายดอก นายทองแก้ว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายเมือง พันเรือง ขุนสรรค์ และนายอิน สร้างขึ้นโดยกรมศิลปากร ตั้งอยู่กลางสวนอันร่มรื่น เพื่อระลึกถึงวีรชนบ้านบางระจันที่กล้าหาญ และเสียสละในการรวมพลังกันต่อสู่กับกองทัพพม่าที่ยกทัพเข้าตีหมู่บ้านบางระจันถึง ๘ ครั้ง ใช้เวลานานกว่า ๕ เดือนจึงเอาชนะได้

   ภายในอุทยาน ประกอบด้วย อนุสาวรีย์วีรชน ค่ายจำลองที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบโบราณ และอาคารศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์ แบ่งนิทรรศการออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ คือ

   ห้องแรก ชีวประวัติบุคคลวีรชนบ้านบางระจัน จัดแสดงภาพจำลองค่ายบางระจัน รวมทั้งรายละเอียดเส้นทางการเดินทัพของพม่า รวมถึงยุทธวิธีในการรับมือกับทหารพม่า ตรงกลางห้องจัดแสดงภาพจำลองและประวัติวีรชนบ้านบางระจัน คนสำคัญท่านต่างๆ เช่น พระอาจารย์ธรรมโชติ นายแท่น นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว บันทึกและรายละเอียด เหตุการณ์สำคัญในการรบทั้ง 8 ครั้ง ด้านในสุดของห้องจัดแสดงอาวุธและเครื่องใช้โบราณ เช่น ไหสี่หู กาน้ำ ขวานถาก ขวานโยน ฯลฯ

   ห้องนิทรรศการที่ 2 และ ห้องนิทรรศการที่ 3 “สิงห์บุรีในอดีต” ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยจัดแสดงจากบันทึกประวัติศาสตร์และภาพการขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงจัดแสดงภาพจำลองข้าวของเครื่องใช้เกร็ดประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย  แบ่งเป็นการจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมในรูปแบบของงานศิลปะที่เก่าแก่ ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ มุมจำลองและแสดงตัวหนัง ประติมากรรมหัวสิงห์ในสมัยอยุธยา จำลองและแสดงขั้นตอนของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากเตาเผาแม่น้ำน้อย และจิตรกรรมฝาผนังวัดม่วง

   ห้องนิทรรศการที่ 4 จัดแสดงภาพจำลองวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำ โดยแบ่งพื้นที่ห้องแบ่งจัดทำทางเดินเป็นเสมือนสะพานทอดกลับไปชมวิถีชีวิตแบบสมัยก่อนริมฝั่งแม่น้ำ ในขณะเดียวกันก็เปรียบเทียบให้เห็นถึงปัจจุบันที่แม่น้ำลดความสำคัญลงไป การเดินทางอาศัยทางถนน ตึกรามบ้านช่องและเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

  ปัจจุบันอุทยานมีการจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน เป็นนิทรรศการถาวรเพิ่มเติม แบ่งส่วนจัดแสเดงเป็น 11 โซน ได้แก่

   โซนที่ 1 รู้จักสามัคคี ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์และพระราชดำรัส

   โซนที่ 2 กรุงศรีอยุธยา แสดงลำดับเหตุการณ์สำคัญและหุ่นจำลองซากปรักหักพัง

   โซนที่ 3 อุโมงค์เวลาและห้องฉายภาพยนตร์

   โซนที่ 4 บางระจัน อู่ข้าวอู่น้ำ จำลองชัยภูมิของหมู่บ้าน แผนที่เส้นทางรวมพล

   โซนที่ 5 จำลองการสร้างค่าย ยุทธวิธีที่ชาวบ้านบางระจันหลอกทหารพม่ามาฆ่า

   โซนที่ 6 จำลองการฝึกรบ เรือนไทย ยุ้งข้าว และการทำเครื่องมือ ในค่าย

   โซนที่ 7 จำลองวิหารวัดโพธิ์เก้าต้น และภาพวาด 3 มิติ

   โซนที่ 8 จำลองการรบครั้งที่ 1-4 พร้อมห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก

   โซนที่ 9 จำลองการรบครั้งที่ 5-8 พร้อมห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก ตู้จัดแสดงอาวุธ

   โซนที่ 10 จัดแสดงประวัติวีรชนแต่ละท่าน ประวัติความเป็นมาของอุทยาน ผ่านเลเซอร์

   โซนที่ 11 ทรงดับทุกข์ในสังคมไทย ประวัติศาสตร์ผืนแผ่นดินไทย และภาพกรุงศรีอยุธยา

เปิดบริการทุกวัน  เวลา 08.00 - 17.00 น.  ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

แสดงความคิดเห็น
สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ