ไม้ดัด อำเภอท่าเรือ
หมวด : ของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก
ประวัติความเป็นมา
จากการบอกเล่าของผู้ประกอบอาชีพปลูกไม้ดัด และผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการทำไม้ดัด และผู้ที่เข้าร่วมเวทีประชาคมว่า คนไทยนิยมเล่นไม้ดัดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๔๐๐ – ๕๐๐ ปี ซึ่งไม่ทราบว่ากี่ชั่วอายุคนมาแล้ว ซึ่งชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่เล่นไม้ดัดมักจะเป็นพวกเจ้าขุนมูลนาย ข้าหลวงในวัง ซึ่งเป็นผู้มีฐานะ โดยจุดประสงค์คือ เลี้ยงไว้ดูเล่น เพื่อความสวยงาม ซึ่งในยุคนั้นมีการประกวดกันด้วย จากคำบอกเล่าของนายสุรสิทธิ์ สุวรรณทรัพย์ ที่ว่า “ท่าเรือเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ” ได้เคยพูดคุยกัยผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น ลุงอั๋น ลุงออน ลุงเลี่ยม เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนคนจะนิยมมาทอดกฐิน ผ้าป่าทางเรือ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวัง เจ้าขุนมูลนายก็จะมาทำบุญสร้างวัด บางพวกทำบุญ บางพวกในช่วงระหว่างรอก็จะมาเดินชมตามบ้าน ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของชาวบ้าน เห็นว่าบางบ้านได้มีการปลูกไม้ดัด ซึ่งเดิมทีผู้ที่ปลูกไม้ดัดที่บ้านล้วนแต่เป็นลูกหลานของคนในวัง หรือไปทำงานในบ้านของเจ้าขุนมูลนาย ผู้มีอันจะกิน แล้วนำมาทำที่บ้านส่วนหนึ่ง ผู้ที่มาทำบุญมาเห็นแล้วเขาชอบก็มาขอซื้อ มีคนมาทำบุญทุกปี และเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ กลับไปแล้วก็ยังมาอีก ปัจจุบันก็มาโดยรถส่วนตัวบ้าง รถไฟบ้าง ได้เข้ามาเยี่ยมชม มาขอซื้อ มาดูตามบ้านว่ามีใครยังปลูกไม้ดัดในรูปทรงสมัยโบราณหรือเปล่า ชาวบ้านหลายคนก็มองเห็นว่า มันสามารถทำรายได้หรือเป็นอาชีพเสริมได้ สมัยก่อนมีตะโกเยอะ มีมากมายสามารถเฟ้นได้ พอมีข่าวลือว่าบ้านนั้น บ้านนี้ขายได้ก็เริ่มที่จะรักในภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ จึงเริ่มปลูกเป็นอาชีพค่อยๆ หาตอไม้ในอำเภอก่อน แล้วขยายไปเรื่อยๆ ระยะหลังประมาณ ๑๐๐ ปี ผ่านมาดูจาก พ่อ แม่ บรรพบุรุษ มีคนมาทำมากขึ้นก็เลยหาตอมากขึ้นในเขตอำเภอใกล้เคียง และในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งขุดตะโก จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนครราชสีมา ระยะหลังพอทำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ชาวอำเภอท่าเรือเดือดร้อนในการหาวัตถุดิบ จึงเบนเข็มไปเล่นข่อย แต่เนื่องจากข่อยไม่สามารถหาตอในลักษณะเดิมได้ หรือตอที่สวยๆ ได้ จึงต้องเปลี่ยนไปทำในลักษณะ “ไม้กอประยุกต์” หรือไม้ช่อป่าประยุกต์ ตัดไปแล้วสามารถตัดจังหวะ ตัดช่องไฟพอเป็นพุ่มแล้ว สามารถตัดแต่งให้แน่นได้สวยขึ้น ซึ่งก็ทำในลักษณะ เพื่อการพาณิชย์ แต่ไม้ในตำรา ๙ อย่าง อำเภอท่าเรือไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้ก็เกือบจะหมดแล้ว เหลือไม่กี่บ้าน ที่นี้ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง ซึ่งจากคนที่ไม่มีกำลังที่จะเล่นแล้ว เพราะเป็นคนแก่ คนที่ทำจริงๆ ก็คือ ลุงไพ ลุงอรุณ เป็นผู้ที่สร้างไม้ดัดไทยได้สวย ตามตำราพวกนี้ คุณลุง ๒ คนนี้มีฝีมือมาก นี่คือความเป็นมาของไม้ดัดไทย อำเภอท่าเรือ และเป็นที่รู้จักของประเทศว่า อำเภอท่าเรือมีชื่อเสียงในเรื่องของไม้ดัด ซึ่งเป็นไม้ที่สวยที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงด้วย ในส่วนของอำเภอท่าเรือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้สืบทอดมาจาก หลวงตากลับ วัดกลาง ผู้ใหญ่ชื่น ชื่นศิลป์, นายชอบ ชื่นศิลป์, นายศรี สังข์ศร กับนายช้อน ศรีสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ในชุมชนวัดกลางคนกลุ่มนี้ได้ไปชักชวนนายหริ่ง อาทิตย์เที่ยง ซึ่งเป็นพ่อของนายเหลือ อาทิตย์เที่ยง อีกกลุ่มหนึ่ง เข้าป่าหาขุดตอไม้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้สืบทอดไม้ดัดของอำเภอท่าเรือ ในยุคแรกๆ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๒๐ ได้มีลูกหลานผู้สืบทอดอีกชุดหนึ่ง คือ นายเลี่ยม ถาวร นายละออง จำนามสกุลไม่ได้ อาจารย์อุไร ละมั่งทอง อยู่ชุมชนโคกศาลา มีลักษณะในการสืบทอดคือ การได้ใกล้ชิดกับต้นไม้ตั้งแต่เด็ก เกิดความชอบ มีใจรัก และทำเป็นอาชีพเสริม หรือจากการว่างหลังทำงานหลัก จึงได้สืบทอดมาถึงทุกวันนี้
อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
๑. ไม้ตอของอำเภอท่าเรือดังที่สุด
๒. ความแตกต่างของการเข้าช่อไม้ ซึ่งเริ่มต้นจากกิ่งเดียวกัน แล้วแตกจาก ๑ เป็น ๒ จาก ๒ เป็น ๔ จาก ๔ เป็น ๘ ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ในช่อเดียว
ความสัมพันธ์กับชุมชน
ไม้ดัดเปรียบเสมือนเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอท่าเรือ และมีความใกล้ชิดผูกพันอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตของประชาชนชาวอำเภอท่าเรือ จะเห็นได้จากในบริเวณวัดจะมีไม้ดัด ช่อใหญ่มากมาย บ้างก็ดัดเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น เรือสุพรรณหงส์ พญานาค ช้าง นอกจากนี้แล้วคำขวัญของอำเภอท่าเรือ คือ “ถิ่นกำเนิดหลวงพ่อโต แดนตะโกดัดงาม เย็นสายน้ำนามป่าสัก วิวสวยนักเขื่อนพระรามหก”ไม้ดัดเป็นผลผลิตที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางด้านศิลปะ แสดงให้เห็นเสน่ห์ของต้นไม้ที่มีความสวยงามหลากหลาย ปัจจุบันในเขตอำเภอท่าเรือ มีผู้เล่นไม้ดัด จำนวน ๑๐๐ กว่าราย กระจายไปยังหมู่บ้านและตำบลต่างๆ เช่น ชุมชนดอนกระสังข์ ตำบลท่าเรือ ตำบลวังแดง ตำบลโพธิ์เอน ตำบลบ้านร่อม ตำบลป่าท่า ตำบลหนองขนาก ตำบลท่าเจ้าสนุก ซึ่งมีจำนวนรายที่เล่นกันมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี แต่ละรายจะมีไม้ดัดตั้งแต่ ๕๐ – ๖๐ ต้นขึ้นไปจนนับเป็นร้อยต้น ชาวบ้านที่มาประชุมในเวทีชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า คนที่จะสามารถประกอบอาชีพไม้ดัดได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีใจรัก มีความรักในต้นไม้ ขยัน มานะ อดทน เนื่องจากเป็นงานที่ให้รายได้ช้ามาก การที่จะปลูกไม้ดัดเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้นั้น จะต้องอาศัยระยเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี บางต้นใช้ระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปี จึงจะออกมาสวยงามได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถทำอาชีพนี้ต้องเป็นคนช่างสังเกต และชอบเรียนรู้ เนื่องจากการทำไม้ดัดบางครั้ง ไม่สามารถสอนกันได้ ต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเอง อาศัยประสบการณ์ เนื่องจากต้นไม้แต่ละต้นมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน ต้นไม้แต่ละต้นมีเพียงต้นเดียวเท่านั้นในโลก(ลักษณะเฉพาะต้น) ดังนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ในการเรียนรู้โครงสร้างต้นไม้ และวิธีการตัดแต่ง จัดช่อรูปทรงของต้นไม้ให้สวยงาม
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
๑. ชะแลง
๒. พรวน
๓. เลื่อย
๔. กรรไกรตัดกิ่ง
๕. ยาทาแผลต้นไม้ อดีตใช้ปูนกินกับหมาก
๖. คีมตัดแต่ง
๗.คีมปากนก
๘. ลวดสังกะสีขนาดใหญ่
๙. ค้อนตอกลวด
๑๐. เชือกหรือปอพลาสติก
๑๑. จอบ
๑๒. บุ้งกี๋
ขั้นตอนการผลิต
เมื่อเลือกต้นไม้ที่ต้องประสงค์แล้ว ขั้นแรกต้องแผ้วถางป่าโดยรอบให้เตียน และปัดกวาดบริเวณให้โล่งเรียบเพื่อป้องกันสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง แล้วจึงใช้มีดฟันส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการทิ้ง ถ้าเป็นกิ่งใหญ่ก็ต้องเลื่อย แล้วจึงใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งเล็กกิ่งน้อยให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกะกะขณะทำการขุด แล้วจึงกำหนดหลุมขุด โดยรอบต้น หรือตอไม้ให้ห่างลำต้น ๑๕ เซนติเมตร โดยวางฝ่ามือลงให้ระยะห่างจากนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อยไม่นับหัวแม่มือ ขั้นแรกควรใช้จอบบุกเบิกเพื่อความรวดเร็วให้หลุมกว้างๆ สะดวกแก่การจะใช้ชะแลงเซาะต่อไป ขณะที่ขุดหลุมโดยรอบต้องระวังอย่าให้ตุ้ม(ดินที่ห่อหุ้มโคนไม้โดยรอบ) แตก มิฉะนั้นเปอร์เซ็นต์ที่จะรอดก็มีน้อยเต็มที ถ้าตุ้มแตกควรคุ้ยดินกลบหลุมทิ้งทันที เมื่อขุดลงไปหากพบรากแก้วขาด แล้วนำขึ้นเกราแต่งตุ้ม ตัดรากไม้ให้เรียบร้อย ใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ผ่าข้าง หุ้มมัดด้วยเชือกปอให้แน่นกันตุ้มดินแตกเมื่อกระทบกระเทือน เป็นอันเสร็จงานขุดต้นไม้ ป่าไม้ดัดไทย
๑. เด็ดใบก่อนทำการขุดหรือตัดช่อเดิมให้เล็กลง
๒. ชุดตั้งตุ้มตามขนาดของต้นตอ
๓. ยกตุ้มขึ้นจากหลุม
๔. ผสมดินให้ร่วนซุย
๕. ปลูกและใส่ดินลงในกระถางพร้อมรดน้ำ
ไม้ดัดอำเภอท่าเรือ
ที่อยู่ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา